ยินดีต้อนรับบุคคลที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมเว็บบล็อกของข้าพเจ้า โดยในเว็บบล็อกนี้มีสิ่งที่หน้าสนใจดังต่อไปนี้

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทที่  5
การนำแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไปใช้
                การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจะประสบผลสำเร็จได้นั้น  ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายประการ  นอกจากครูผู้สอนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรงในชั้นเรียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำแนวคิดไปสู่ความสำเร็จแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ  อีกหลายปัจจัยที่เป็นส่วนสนับสนุนผลักดันให้การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในชั้นเรียน  และในโรงเรียนดำเนินไปอย่างราบรื่นมีประสิทธิผลไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการในโรงเรียน  การจัดสิ่งสนับสนุนด้านต่างๆ  การนิเทศภายใน  กำกับ  ติดตาม  หรือการจัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำแนวคิดนี้ไปใช้  ปัจจัยต่างๆที่กล่าวมานี้สามารถนำมาประมวลเป็นบทบาทของโรงเรียนในการนำแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไปดำเนินการให้บังเกิดผลพร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อนำแนวคิดนี้ไปใช้ปฏิบัติจริง  เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการและเป็นข้อพึงระวังสำหรับโรงเรียนและครูผู้สอนในการปฏิบัติต่อไป
      1.  บทบาทของโรงเรียนในการดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
                คำว่า  โรงเรียน  ในที่นี้  หมายถึง  บุคลากรทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารโรงเรียน  คือปัจจัยสำคัญที่จะนำแนวคิด  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไปสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นระบบ  ชัดเจนและจริงจังเพราะเพียงลำพังครูผู้สอนถึงจะมีความรู้  ความสามารถและทักษะในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากเพียงใด  ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้  หากขาดระบบการสนับสนุนที่ดีและเพียงพอ  บทบาทของโรงเรียนในการดำเนินการ  ประกอบด้วย
                1.1  การจัดทำแผนงานโครงการเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน
                                1.1.1  การกำหนดนโยบายของโรงเรียน  โดยกำหนดให้การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  เป็นนโยบายและเป้าหมายสำคัญที่โรงเรียนจะต้องดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ  บุคลากรทุกคนจะต้องรับทราบ  ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติและสนับสนุนการปฏิบัติให้บังเกิดผลอย่างจริงจัง
                                1.1.2  การกำหนดความต้องการจำเป็นด้านต่างๆ  การเตรียมการให้เกิดความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน  ควรจะได้มีการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของโรงเรียนทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสภาพการจัดการเรียนการสอน  ความรู้ความสามารถของครู  รวมถึงสิ่งสนับสนุนการเรียนการสอนทุกด้าน  เพื่อกำหนดความต้องการจำเป็น(need)  ในการพัฒนาว่าโรงเรียนต้องการดำเนินการเตรียมการด้านใดบ้าง  เพื่อที่จะจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น  หากวิเคราะห์สภาพปัจจุบันแล้วพบว่า  ครูยังขาดเทคนิค  ทักษะ  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ขาดสื่อการเรียนการสอน  ก็จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด
                                1.1.3  การจัดทำแผนงานโครงการ  เมื่อระบุความต้องการจำเป็นในการพัฒนาและทางเลือกในการดำเนินการที่เหมาะสมแล้ว  จะเป็นการจัดทำแผนงานโครงการที่จะกระทำเพื่อสนับสนุนการดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้ประสบความสำเร็จ  โครงการอาจประกอบไปด้วยกิจกรรต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อม  เช่น  การพัฒนาบุคลากร  การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้  การผลิตสื่อนวัตกรรมหรือเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน  เช่น  การนิเทศ  ติดตามผล  เป็นต้น
                1.2  การพัฒนาบุคลากร  คน  คือ  หัวใจของการพัฒนา  การพัฒนาบุคลากรจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเบื้องต้นของการพัฒนาทุกด้าน  เพื่อให้แผนงานโครงการบรรลุจุดมุ่งหมาย  ขั้นตอนของการพัฒนาบุคลากรอาจประกอบด้วย
                                1.2.1  การปรับกระบวนทัศน์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  เนื่องจากแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่หลายคนเห็นว่ายากที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง  บางคนมองว่าเป็นสิ่งยุ่งยาก  ต้องใช้สื่อและเวลาในการจัดกิจกรรม  ก่อให้เกิดการปฏิเสธ  ไม่ยอมรับ  ไม่ยอมเรียนรู้และไม่นำไปใช้  การสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนจากแนวทางแบบเดิมที่มุ่งเน้นการบอกเล่าเนื้อหา  เน้นบทบาทครู  มาสู่วิธีการใหม่  ซึ่งยอมรับกันว่าสามารถสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์แก่ผู้เรียนได้  จึงเป็นความจำเป็นที่โรงเรียนจะต้องดำเนินการให้สำเร็จ  เพื่อให้ครูเห็นความสำคัญของแนวคิดนี้  เกิดการยอมรับและเต็มใจที่จะปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง
                                บุคลากรที่ต้องได้รับการปรับกระบวนทัศน์ตามขั้นตอนนี้ประกอบด้วย  ผู้บริหารโรงเรียน  ครูผู้สอนและบุคลากรทุกฝ่ายเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นดังกล่าว  เพื่อให้มีการปฏิบัติและสนับสนุนอย่างจริงจัง  เทคนิควิธีการปรับกระบวนทัศน์อาจใช้การระดมพลังสมอง  การประชุมชี้แจง  การศึกษาดูงาน  การประชุมปฏิบัติการ  ฯลฯ
                                1.2.2  การพัฒนาความรู้  ความเข้าใจ  เกี่ยวกับเทคนิควิธีการ  เมื่อครูผู้สอนเกิดความตระหนักและยอมรับแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแล้วควรจัดให้มีการพัฒนาความรู้  ความเข้าใจแก่ครูผู้สอนในเรื่องที่ได้กำหนดเป็นความต้องการจำเป็นไว้ไม่ว่าจะเป็น  เทคนิค  ทักษะ  และวิธีการจัดการเรียนการสอน  การออกแบบกิจกรรมและวิธีการสอน  การผลิตสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอน  การวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับแนวคิดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง  การจัดให้ความรู้  ความเข้าใจในหัวข้อต่างๆ  ควรกระทำอย่างจริงจัง  ใช้การฝึกปฏิบัติด้วยวิธีการหลากหลาย  ให้ครูได้ปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ  ความมั่นใจ  ฝึกให้ครูได้ทำงานเป็นคณะ  ร่วมกันออกแบบวิธีการสอน  แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ฝึกการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของตนและเพื่อน  เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้าง  รู้จักการยอมรับฟังผู้อื่น  และสามารถนำเทคนิค  วิธีการและความรู้ต่างๆ  ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีที่หลากหลายได้
                1.3  การเตรียมสิ่งสนับสนุน  เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของผู้เรียน  เพื่อส่งเสริมการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนในลักษณะต่างๆ  และเพื่อให้ครูสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้วิธีการสอนหลากหลาย  น่าสนใจ  สิ่งสนับสนุน  ในที่นี้ประกอบด้วย
                                1.3.1  การเตรียมแหล่งค้นคว้าสำหรับผู้เรียน  ประกอบด้วย  ห้องสมุด  ศูนย์หนังสือ  ศูนย์วิทยุบริการ  ห้องโสตทัศนศึกษา  ห้องสมุดหมวดวิชา  ฯลฯ  ซึ่งควรเป็นสถานที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งค้นคว้าที่เป็นระบบ  สะดวก  ง่ายต่อการค้นคว้า  การเลือกใช้ทั้งในส่วนที่เป็นเอกสารและไม่ใช่เอกสาร  เป็นสถานที่สะอาด  สงบ  มีสื่อหลากหลาย  น่าเข้าไปใช้บริการ
                                1.3.2  การเตรียมสื่อ  วัสดุ  อุปกรณ์  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจะเน้นให้ผู้เรียนได้คิด  ทำ  และแสดงออก  ครูจึงมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดและปฏิบัติด้วยตนเอง  ซึ่งต้องอาศัยสื่อและวัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย  น่าสนใจ  โรงเรียนจึงควรสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้พร้อมให้ครูสามารถเลือกใช้  เตรียมหรือจัดทำเพื่อเติมได้สะดวกและให้ผู้เรียนได้ใช้คิดค้นปฏิบัติด้วยตนเอง
                1.4  การบริหารและบริการหลักสูตรเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน  การบริหารและบริการหลักสูตรให้เอื้อและสอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้  และฝึกปฏิบัติทักษะต่างๆ  ด้วยตนเอง  โรงเรียนสามารถดำเนินการบริหารและบริการหลักสูตรในลักษณะต่อไปนี้
                                    1.4.1  การจัดให้มีรายวิชาเลือกตามโครงสร้างหลักสูตรที่หลากหลาย  เพื่อสนองความถนัด  ความสามารถ  และความสนใจที่แตกต่างกันไปของผู้เรียน  ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกสิ่งที่จะเรียนด้วยตนเอง  โดยเน้นรายวิชาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ  ฝึกทักษะต่างๆ  ที่สำคัญจำเป็นครบถ้วน  ไม่ว่าจะเป็นทักษะการแสวงหาความรู้  ทักษะการดำรงชีวิต  ทักษะการแก้ปัญหา  หรือทักษะการสื่อสาร
                                1.4.2  การจัดกิจกรรมให้เอื้อต่อการพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียน  การจัดกิจกรรมต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมตามระเบียบฯ  กิจกรรมแนะแนว  กิจกรรมแก้ปัญหา  กิจกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และกิจกรรมอิสระของผู้เรียน  รวมถึงกิจกรรมนอกเวลาเรียน  เช่น  กิจกรรมตามวาระสำคัญ  วันสำคัญ  กีฬาสี  กิจกรรมหลังเคารพธงชาติ  หรือการแสดงความสามารถต่างๆ  ควรให้ผู้เรียนได้มีบทบาทในการดำเนินการ  ตั้งแต่วางแผนเลือกวิธีดำเนินกิจกรรม  ดำเนินการและประเมินผล  โดยเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง  มีบทบาทสำคัญในการแสดงออกอันจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินกิจกรรม  ซึ่งจะช่วยสนับสนุน  ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี
                                1.4.3  การจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนรักการศึกษาค้นคว้า  ใฝ่รู้  ใฝ่เรียน  โรงเรียนควรมุ่งเน้นการจัดบรรยากาศภายในโรงเรียนให้มีความเป็นวิชาการบวกกับความเป็นระเบียบ  สวยงามท้าทายให้ผู้เรียนค้นหา  แสวงหาความรู้  เช่น  จัดอุทยานการศึกษา  จัดสวนในวรรณคดี  จัดป้ายความรู้ตามบริเวณต่างๆ  จัดสวนหนังสือ  ป้ายนิเทศ  เครื่องมือวิทยาศาสตร์พร้อมข้อความรู้ง่ายๆ  เช่น  นาฬิกาทราย  กังหันลม  ซึ่งจะให้ทั้งความสวยงามและความรู้ในเวลาเดียวกัน  รวมทั้งจัดการแสดงความสามารถของผู้เรียนในโอกาสต่างๆ  เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงออกในทักษะด้านๆ
                                1.4.4  การจัดบริการแนะแนวอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้เรียน  โรงเรียนควรดำเนินการให้มีการแนะแนวที่มีประสิทธิผล  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง  ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและสามารถช่วยแก้ปัญหาของผู้เรียนได้อย่างทันเหตุการณ์  โดยจัดให้ครูที่มีประสบการณ์ด้านการแนะแนวประจำที่ห้องแนะแนวอย่างเพียงพอ  จัดห้องแนะแนวให้มีบรรยากาศเสมือนบ้าน  มีศูนย์สารสนเทศการศึกษา  อาชีพ  และการปรับตัวที่มีข้อมูลทันสมัย  ทันเหตุการณ์  จัดฝึกให้ครูทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับการแนะแนว  จิตวิทยาการเรียนการสอนและการให้คำปรึกษา  สามารถให้ความช่วยเหลือผู้เรียนที่มีปัญหาต่างๆ  มีกาติดตามผลผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ  ใช้การสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในบทเรียนทุกวิชา  และเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  และพัฒนาการของผู้เรียน
                1.5  การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจ  การประชาสัมพันธ์เป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งที่จะช่วยให้บุคลากรทุกฝ่ายของโรงเรียนรวมทั้งผู้เรียนและผู้ปกครองได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ว่าเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนให้ฝึกคิด  ทำ  แสดงออก  และแก้ปัญหาการเรียนการสอนจะเน้นกระบวนการควบคุมไปกับเนื้อหาของความรู้  ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ต่างจากการเรียนการสอนแบบเดิม  โรงเรียนจะต้องชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายเข้าใจ  สนับสนุนและช่วยเหลือรวมทั้งร่วมมือในการดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง  นอกจากนี้ควรมีการประชาสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อให้ชุมชนช่วยเหลือด้านวัสดุ  อุปกรณ์  หรือเปิดโอกาสให้ใช้สถานที่สถานประกอบการเป็นแหล่งศึกษาดูงาน  หรือทำกิจกรรมตามความเหมาะสมด้วย
                1.6  การดำเนินการจัดการเรียนการสอน  เมื่อเตรียมการด้านต่างๆ  พร้อมแล้วครูผู้สอนก็จะดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามที่ได้วางแผนไว้  เพื่อให้แนวคิดเกิดประสิทธิผลในทางปฏิบัติ  โรงเรียนควรดำเนินการดังนี้
                                1.6.1  จัดตั้งคณะกรรมการการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน  เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในเผ้าหมาย  ทิศทางเดียวกัน  มีผู้รับผิดชอบ  ดูแลอำนวยความสะดวกให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น  มีประสิทธิผล  โรงเรียนควรจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ  โดยกำหนดให้มีบทบาทหน้าที่ดังนี้
                                                1.ดูแลให้คำปรึกษาแก่ครูผู้สอนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  โดยการพูดคุย  รับฟังปัญหาอุปสรรค  ให้คำแนะนำ  และร่วมแก้ไข
                                                2.  อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ  แก่ครูผู้สอนไม่ว่าจะเป็นการจัดสิ่งสนับสนุนด้านต่างๆ  การอำนวยความสะดวก  เรื่องห้องเรียน  วัสดุ  อุปกรณ์  ตารางเวลา  ฯลฯ
                                                3.  นิเทศ  กำกับ  ติดตาม  เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามวัตถุประสงค์
                                                4.  ให้แรงเสริม  ขวัญและกำลังใจแก่ครูผู้สอน  ยกย่องเชิดชูผู้ที่ประสบความสำเร็จและให้กำลังใจคนอื่นๆ  ให้เกิดความมานะ  อดทนในการสอนซึ่งจะใช้เวลา  และความพยายามอย่างมาก
                                                5.  ประเมินผลการดำเนินงาน
                                1.6.2  สนับสนุนให้ครูผู้สอนทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะ  เพื่อให้ครูผู้สอนรู้สึกว่าตนเองไม่ได้โดดเดี่ยวหรือทำงานตามลำพัง  แต่มีเพื่อนค่อยปรึกษาหารือ  และช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  โดยมีขั้นตอนการทำงานกลุ่มดังนี้
                                                1.  การวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกัน  เพื่อระดมความคิดในงานที่มีเป้าหมายร่วมกัน  นำแผนมาอภิปราย  แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  พิจารณาความเป็นไปได้  ปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น  วิเคราะห์ความน่าสนใจและการเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติ  และร่วมกันปรับปรุงแก้ไขแผนให้สมบรูณ์ยิ่งขึ้น        
                                                2.  การดำเนินการจัดกิจกรรมพร้อมๆกัน  เพื่อให้ครูรู้สึกว่ามีเพื่อนรวมคิดร่วมทำจริง  มีที่ปรึกษาคอยช่วยแก้ไข  ปรับปรุงเมื่อพบปัญหาอุปสรรค
                                                3.การนำผลการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  วิเคราะห์ความสำเร็จ  ปัญหา  อุปสรรคที่เกิดขึ้น
                                                4.  การสรุปเป็นแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ควรดำเนินการ  หลังจากวิเคราะห์หาข้อสรุปของการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งแล้ว  ควรได้มีการร่วมกันคิด  และเขียนแนวทางการจัดกิจกรรมที่ควรดำเนินการในครั้งต่อไป
                1.7  การจัดระบบนิเทศภายใน  กำกับ  ติดตาม  เป็นขั้นตอนซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนตามหัวข้อ  1.6.1  ซึ่งจะต้องดำเนินการหลังจากได้วางแผนนิเทศ  กำกับ  ติดตามการดำเนินการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน  ตามช่วงเวลาที่กำหนด  เพื่อตรวจสอบว่าการดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้หรือไม่  เพียงใด  ประสบความสำเร็จ  หรือมีปัญหาอุปสรรคใดเกิดขึ้นและได้มีการแก้ไขปรับปรุงในขั้นต่อมาหรือไม่  อย่างไร  รวมทั้งเข้าไปให้คำปรึกษา  ให้ข้อเสนอแนะ  แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน  เหมาะสมยิ่งขึ้น
                1.8  การประเมินผลการปฏิบัติงาน  เป็นบทบาทของคณะกรรมการการพัฒนาการเรียนการสอนที่จะประเมินผลการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน  ซึ่งสามารถพิจารณาจากผลการดำเนินการที่กำหนดเป้าหมายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพไว้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนในด้านต่างๆ
                1.9  การนำผลการประเมินเป็นข้อมูลป้อนกลับเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงาน  เป็นการนำผลการประเมินมาวิเคราะห์  เพื่อหาข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนในการดำเนินการทั้งในส่วนของการเตรียมการด้านต่างๆ  และการดำเนินการจัดการเรียนการสอนเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ตรงประเด็น  ให้การดำเนินการครั้งต่อไปประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
   
 2.  ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการนำแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไปใช้และแนวทางแก้ไข
     การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำได้สำเร็จได้โดยง่ายหรือในช่วงระยะเวลาอันสั้น  การนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติในระดับห้องเรียน  แม้โรงเรียนจะได้เข้ามามีบทบาทในการเตรียมการเพื่อสนับสนุนในด้านต่างๆ  เป็นอย่างดีแล้วก็ตาม  ก็มักจะมีปัญหาอุปสรรคต่างๆเกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนเสมอ  ซึ่งหากบุคลากรของโรงเรียนทั้งในส่วนของผู้บริหารฝ่ายต่างๆ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอนที่ปฏิบัติโดยตรง  ไม่ตระหนักและรู้เท่าทันปัญหาแล้วพยายามหาทางป้องกัน  แก้ไข  อย่างทันการณ์แล้วก็อาจก่อให้เกิดความท้อแท้  เหนื่อยหน่ายและหมดกำลังใจในที่สุด
    ในส่วนนี้จึงจะขอนำเสนอปัญหาที่พบเสมอในการนำแนวคิดนี้ไปใช้  พร้อมทั้งแนวทางดำเนินการ  เพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  ดังนี้
                2.1  ปัญหาที่เกิดจากครูผู้สอน
                                2.1.1  ครูเคยชินกับวิธีการสอนแบบเดิม  ครูส่วนมากจะคุ้นเคยกับวิธีการสอนที่ตนเองเคยเรียนตั้งแต่ตอนเป็นสมัยผู้เรียน  ซึ่งมักเป็นการเรียนที่มีครูคอยบรรยายให้เนื้อหาข้อความรู้  วิธีการนี้เป็นสิ่งที่ครูซึมซับรับสู่ตนเองเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนเกิดความฝังใจ  ยากที่จะปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข
                                แนวดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไข
                1.  จัดให้ครูได้ฝึกและทดลองใช้วิธีการสอนแบบใหม่ที่สนุกสนาน  น่าสนใจ  แตกต่างจากวิธีการเดิมๆ  ที่ครูเคยพบ  ให้ครูได้ทดลองปฏิบัติจริง  เพื่อให้เห็นความแตกต่าง  ให้วิเคราะห์เปรียบเทียบผลที่เกิดจากการเรียนรู้แบบเดิมและแบบใหม่
                2.  จัดให้ครูมีทีมหรือคู่ในการวางแผนการจัดกิจกรรมโดยใช้วิธีการสอนแบบใหม่ให้ร่วมปรึกษาหารือ  ทดลองใช้  และนำผลมาวิเคราะห์ร่วมกัน  เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
                3.  ให้คำชมเชย  ยกย่อง  ชื่นชมครูที่สามารถปรับเปลี่ยนการสอนได้ประสบความสำเร็จ
                                2.1.2  ครูรู้สึกว่าถูกลดบทบาทและหมดอำนาจในห้องเรียน  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจะเป็นการให้บทบาทหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมแก่ผู้เรียน  และสนับสนุนให้เขาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  ครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก  ดูแลให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ครูหลายคนรู้สึกว่าหมดความสำคัญในห้องเรียน
                                แนวดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไข
                1.  สร้างเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่  โดยการปรับกระบวนทัศน์ให้ครูผู้สอนเห็นความสำคัญของวิธีการนี้และยอมรับอย่างจริงใจ
                2.  ให้ครูดำเนินการจัดกิจกรรมโดยการจัดผู้คอยดูแล  ให้กำลังใจในการปฏิบัติ  ชี้ให้เห็นผลที่น่าพึงพอใจที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน
                                2.1.3  ครูไม่มั่นใจในเทคนิค  ทักษะ  และวิธีการสอนของตนเองว่าเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพียงใด  เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนแนวนี้เน้นให้ผู้เรียนค้นคว้า  แสวงหาความรู้ด้วยการปฏิบัติจริง  มีปฏิบัติสัมพันธ์กับกลุ่มด้วยกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ  ครูจึงต้องออกแบบกิจกรรมที่ใช้เทคนิควิธีการสอนที่เอื้อต่อการสนับสนุนให้ผู้เรียนกระทำบทบาทดังกล่าว  ครูหลายคนคิดว่าเป็นงานที่ยากและต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่ลึกซึ้ง  ทำให้หมดกำลังใจและบางคนแก้ปัญหาโดยการใช้วิธีการซ้ำๆ  เช่นแบ่งกลุ่มผู้เรียนให้ระดมพลังสมองหาข้อสรุปตามประเด็นที่ครูกำหนดในแทบทุกจุดประสงค์  ทุกเนื้อหา  ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่าการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  คือ  การสอนด้วยวิธีการแบ่งกลุ่มผู้เรียนซึ่งไม่ถูกต้อง  เพราะการแบ่งกลุ่มทำงานเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ปฏิบัติงานร่วมกัน แต่เทคนิควิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีมากมายหลายวิธีไม่ยุ่งยากและครูสามารถนำมาใช้ได้ผล
                                แนวทางแก้ไข  อาจทำได้โดยให้ครูได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิควิธีการที่หลากหลายอย่างจริงจัง  ได้ฝึกออกแบบกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ  ได้ทดลองจริงเพื่อสร้างความมั่นใจในความรู้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่
                                2.1.4  ครูไม่เคยชินกับการทำงานเป็นทีมหรือรับการนิเทศ  ในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทำงานร่วมกัน  คอยดูแลให้ข้อเสนอแนะ  รวมถึงการนิเทศติดตามการปฏิบัติงาน  เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  มีการปรับปรุงแก้ไขที่ทันการณ์  ครูส่วนมากไม่เคยชินกับการปรึกษาหารืออย่างจริงจังในการจัดการเรียนการสอน  หรือการวิเคราะห์ผลการปฏิบัติ
                                ปัญหานี้อาจแก้ไข  โดยการให้ครูเป็นผู้เลือกทีมหรือกลุ่ม  เลือกช่วงเวลาและวิธีการนิเทศให้ครูมีโอกาสทั้งนิเทศผู้อื่นและรับการนิเทศ  ฝึกการวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน  การรับฟังความเห็นผู้อื่นและการไว้วางใจกัน
                                2.1.5  ครูส่วนมากเห็นว่า  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางทำให้ผู้เรียนเรียนได้ช้า  ได้เนื้อหาน้อยอาจทำให้เรียนไม่จบหลักสูตรได้ทันเวลา  เนื่องจากการเรียนเน้นการให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติเอง  สรุปข้อความรู้เองอาจทำให้เสียเวลากับส่วนนี้มากเกินไป
                                แนวทางการแก้ไขทำได้โดยการให้ความมั่นใจแก่ครูว่าการเรียนการสอนแนวนี้เป็นการเรียนที่เน้นกระบวนการควบคู่ไปกับเนื้อหา  การฝึกปฏิบัติของผู้เรียนมิได้ฝึกเพียงวิธีการหรือกระบวนการ  แต่เป็นวิธีที่ได้มาซึ่งเนื้อหาความรู้ตามที่กำหนดในจุดประสงค์การเรียนรู้  ครูสามารถสอดแทรกเนื้อหาตามหลักสูตรลงในวิธีการที่กำหนดให้ผู้เรียนปฏิบัติได้ทุกครั้ง  การมอบหมายงานให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยวิธีการต่างๆ  บางครั้งอาจเรียนรู้เนื้อหาได้มากกว่าที่ครูบรรยายเองด้วยซ้ำ  บทบาทของครูจึงต้องกำหนดภาระงาน(task)  ที่ชัดเจนว่าให้ผู้เรียนใช้วิธีการใดให้ได้เนื้อหา(ความรู้)  ใดในเวลาเดียวกัน  และครูควรตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ชัดเจนของเนื้อหาความรู้ที่ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าทุกครั้ง  เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดและทำให้ครูมั่นใจว่าผู้เรียนได้เรียนรู้ครบถ้วนทั้งเนื้อหาและวิธีการ
                                2.1.6  ครูส่วนมากมองว่าการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเห็นผลช้าไม่ทันใจ  เนื่องจากเป็นการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการทำงาน  การคิด  การแสดงออก  การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น  ทำให้เห็นผลในเชิงความรู้  ความเข้าใจ  หรือเนื้อหาไม่ชัดเจน
                                แนวทางการดำเนินการในประเด็นนี้  ต้องทำความเข้าใจกับครูผู้สอนว่าความรู้  ความเข้าใจในเนื้อหาเป็นเพียงคุณลักษณะหนึ่งที่เกิดการเรียนรู้และเป็นพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย(Cognitive)  เท่านั้นการวัดเพียงความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาเป็นวิธีการวัดผลที่ไม่สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ซึ่งการประเมินผลตามแนวทางนี้จะต้องประเมินทั้งกระบวนการควบคู่ผลงาน  รวมทั้งทักษะความรู้หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทุกด้าน  ซึ่งครูจะเห็นผลการเรียนรู้ได้ชัดเจนจากการประเมินแนวใหม่ว่าผู้เรียนมีพัฒนาการและคุณลักษณะตามที่กำหนดในจุดประสงค์การเรียนรู้และในหลักสูตร
                                2.1.7  ครูส่วนมากรู้สึกว่าการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่เหมาะสมที่จะใช้กับกลุ่มผู้เรียนที่มีระดับสติปัญญาหรือผลการเรียนต่ำ  เพราะเป็นการเรียนการสอนที่ผู้เรียนต้องลงมือปฏิบัติเอง  การให้ผู้เรียนที่ครูรู้สึกว่าเรียนอ่อนปฏิบัติจะทำให้เกิดความล่าช้า  ความไม่มั่นใจและเสียเวลา
                                แนวทางแก้ไข  ต้องสร้างความเข้าใจกับครูว่าการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งสอนความสามารถ  ความถนัด  และความสนใจของผู้เรียนที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญาหรือความสามารถด้านใด  ครูสามารถจัดการเรียนการสอนกับเด็กทุกกลุ่ม  โดยใช้เทคนิควิธีการที่เหมาะกับแต่ละกลุ่ม  โดยครูต้องวิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อออกแบบกิจกรรมที่ใช้วิธีการเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพผู้เรียน  ผู้เรียนที่เรียนอ่อนจะเรียนรู้ได้ตามศักยภาพของเขา  ครูอาจต้องเข้าใจ  ดูแลแนะนำ  ชี้แนะมากกว่ากลุ่มอื่น  ครูอาจใช้การช่วยเหลือระหว่างเพื่อให้เป็นประโยชน์โดยการจัดกลุ่มคละความสามารถมีทั้งผู้เรียนที่มีสติปัญญาในระดับเก่ง  ปานกลาง  และอ่อนให้ทำงานร่วมกัน  เรียนรู้และช่วยเหลือกันในลักษณะกลุ่ม  และประเมินงานกลุ่ม  ยกย่อง  ชื่นชมผลงานกลุ่มเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนในกลุ่มรู้สึกภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง
                2.2  ปัญหาที่เกิดจากโรงเรียน
                                2.2.1  การเตรียมการด้านต่างๆ  ของโรงเรียนไม่จริงจังต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมสิ่งสนับสนุนด้านต่างๆ  การพัฒนาบุคลากรหรือการจัดบรรยากาศการเรียนรู้  มักเป็นไปอย่างแข็งขัน  กระตือรือร้นในระยะแรกๆ  แล้วค่อยๆ ลดลง  และหายไปในมี่สุด  โดยเฉพาะการพัฒนาครูมักจะทำกันครั้งสองครั้งตอนต้นปีแล้วหมดไปไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจัง
                                แนวดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไข
                1.  จัดทำแผนงานโครงการด้านต่างๆ  ที่ชัดเจน  มีกำหนดระยะเวลา  มีวิธีกำกับ  ติดการดำเนินงาน  ระบุผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนอย่างชัดเจน  จะทำให้บุคลากรทุกฝ่ายตื่นตัวกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนงานโครงการ
                2.  ผู้บริหารต้องตรวจสอบและกำกับการดำเนินการตามแผนงานโครงการอย่างจริงจังเป็นระยะ
                3.  ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการเป็นระยะ  เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
                                2.2.2  บุคลากรบางฝ่ายในโรงเรียนไม่เข้าใจแนวทางวิธีการจัดการเรียนการสอน  อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการสนับสนุนการดำเนินการจัดการเรียนการสอนเช่น
                                1.บางคนมองว่า  การที่ผู้เรียนทำกิจกรรมมีการแบ่งกลุ่มทำงาน  อภิปรายส่งเสียงดัง  และวิพากษ์วิจารณ์กัน  เดินไปมาเพื่อปฏิบัติงานดูเหมือนเป็นการขาดระเบียบวินัยในชั้นเรียนและรบกวนห้องเรียนอื่นๆ
                                2.  กิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจะฝึกผู้เรียนให้กล้าคิด  กล้าทำ  กล้าแสดงออกและกล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา  จนอาจจะทำให้ดูเหมือนเป็นคนก้าวร้าวไม่เคารพผู้ใหญ่
                                ปัญหานี้  แก้ไขได้โดยการสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอน  วิธีนี้แก้บุคลากรทุกฝ่ายอย่างจริงจัง  เพราะวิธีการต่างๆ ดังกล่าวนั้นคือ  หนทางหนึ่งในการสร้างคุณลักษณะกล้าคิด  กล้าทำ  กล้าแสดงออกของผู้เรียน
                                2.2.3  จำนวนผู้เรียนในแต่ละห้องเรียนมีมากเกินไป  ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในต่างประเทศ  ผู้เรียนแต่ละห้องจะมีไม่เกิน  25 คน  ทำให้ง่ายต่อการจัดกิจกรรมและการฝึกปฏิบัติอย่างทั่วถึง  การที่ผู้เรียนแต่ละห้องเรียนมีมากถึง  50 คน  น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิผล
                                แนวทางการแก้ไข  อาจทำได้โดยครูใช้เทคนิคการจัดการชั้นเรียนขนาดใหญ่เข้าช่วย  อาจใช้กระบวนการกลุ่มการจับคู่(Pairwork)  การเรียนโดยใช้เทคโนโลยี  เช่น  คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ศูนย์การเรียน(Learning  Center)  หรือศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Access  Center)  เข้าช่วยและให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการประเมินการปฏิบัติของตนเองและเพื่อน  ซึ่งจะเป็นการลดภาระครูลงได้
                                2.2.4  ระบบการวัดประเมินผลยังไม่เอื้อต่อการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  เพราะการจัดประเมินในปัจจุบันยังเน้นการวัดความรู้  ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน  โดยเฉพาะระบบการสอบเรียนต่อ  เช่น  การสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังใช้แบบวัดความรู้  ความจำ  มากกว่าจะวัดผลงาน  ทักษะกาปฏิบัติ  และคุณลักษณะต่างๆ  ของผู้เรียนทำให้ครูผู้สอนและนักเรียนจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญของการเรียนการสอนแนวทางนี้      
                              แนวทางแก้ไข  ในระดับห้องเรียนอาจจะใช้การชี้แจงให้ครูเข้าใจแนวการวัดประเมินผลแบบใหม่ที่เน้นการประเมินจากสภาพจริง  การประเมินภาคปฏิบัติและการประเมินจากแฟ้มสะสมผลงานอันเป็นการประเมินที่จะสะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน  ส่วนในระดับชาติควรได้มีการผลักดันระบบการสอบเรียนต่อโดยเฉพาะการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องสนับสนุนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
                2.3  ปัญหาที่เกิดจากผู้เรียน
                                2.3.1  ผู้เรียนส่วนมากขาดทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้  การปฏิบัติ  การอภิปราย  วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล  และการทำงานเป็นกลุ่ม  ซึ่งทักษะเหล่านี้จัดเป็นคุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นของผู้เรียนในการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ครูจึงจำเป็นต้องใช้เวลาช่วงแรกๆ ฝึกทักษะพื้นฐานเหล่านี้แก่ผู้เรียนก่อน  ทำให้ดูเหมือนเสียเวลา  และผู้เรียนไม่ได้เรียนความรู้หรือเนื้อหาที่ควร
                                การแก้ไขทำได้โดยให้ครูฝึกกระบวนการควบคู่กับการเรียนเนื้อหา  หรือให้คณะครูร่วมกันฝึกผู้เรียนในหลายๆ วิชาพร้อมๆ กัน  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นเคยกับทักษะพื้นฐานเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการเรียนได้อย่างรวดเร็ว  ลดเวลาครูผู้สอนที่จะฝึกสิ่งเหล่านี้ลงไป
                                2.3.2  ผู้เรียนส่วนมากเคยชินกับการเป็นผู้รับความรู้มากกว่าผู้ปฏิบัติเพื่อค้นหาความรู้เอง  การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ในระยะแรกๆ  อาจมีผู้เรียนไม่เข้าใจเกิดความเบื่อหน่ายไม่ร่วมมือ  เพราะดูเสมือนว่าครูไม่ยอมสอนอะไร  และผู้เรียนไม่ได้เรียนรู้เนื้อหาวิชาจากครูมากที่ควร
                                ในการแก้ไขครูต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เรียน  อธิบายถึงกระบวนการและวิธีการ  รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นจากการเรียนแบบนี้  ครูอาจให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมตั้งแต่วางแผนจัดกิจกรรม  กำหนดบทบาทตนเอง  เลือกสื่อที่เห็นว่าน่าสนใจ  และให้เขามีส่วนร่วมในการประเมินกระบวนการและผลงานของตนเองและเพื่อนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ  ตระหนักในความสำคัญของแนวทางนี้  รวมทั้งให้ผู้เรียนประเมินวิธีการที่ใช้ในการจัดกิจกรรมเพื่อครูจะได้นำไปเป็นข้อมูลปรับปรุงแก้ไขการจัดกิจกรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
                                ปัญหาอุปสรรคที่นำเสนอมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากการมีเจตคติที่ไม่ดี  ความไม่เข้าใจ  ไม่มั่นใจและไม่ยอมรับในแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางว่าจะสามารถนำมาปฏิบัติอย่างได้ผลจริงจังในชั้นเรียน  ดังนั้นยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญที่สุดของการนำแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติ  จึงน่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจ  ความเชื่อมั่นและยอมรับในแนวคิดของบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนเริ่มจากผู้บริหารที่ต้องเชื่อมั่น  และมั่นคงในหลักการที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การปฏิบัติในโรงเรียนให้ได้  และสนับสนุนทุกวิถีทางที่จะทำให้เกิดขึ้น  ครูผู้สอนจะต้องเข้าใจ  เชื่อมั่น  และอดทนที่จะดำเนินการให้บังเกิดผลด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมที่จะพัฒนาผู้เรียนอันเป็นอนาคตของสังคม  บุคลากรฝ่ายอื่นๆ รวมทั้งผู้เรียน  ผู้ปกครอง  และชุมชนต้องเข้าใจ  ยอมรับและพร้อมจะปฏิบัติ  สนับสนุน  ช่วยเหลือให้แนวคิดนี้เป็นจริง  หากทุกฝ่ายพร้อมและยอมรับที่จะปฏิบัติ  "การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง"  จึงจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในห้องเรียนและโรงเรียน
                                สรุป
                แนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจะประสบความสำเร็จได้นั้น  ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ  การนำแนวคิดนี้สู่การปฏิบัติในห้องเรียน  และในโรงเรียนจึงต้องกระทำอย่างเป็นขั้นตอน  เป็นระบบชัดเจน  รอบคอบ  และเชื่อมั่น  เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติอย่างจริงจัง  การยอมรับในแนวคิดและมีเจตคติมี่ดีต่อแนวทางนี้ของบุคลากรทุกคนในโรงเรียน  คือ  ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานหลัก  สนับสนุนให้การจัดการเรียนการสอนประสบผลสำเร็จ  ความชัดเจนในหลักการ  วิธีการ  เทคนิคและทักษะต่างๆ ในการจัดการทั้งในและนอกชั้นเรียน  คือ  ข้อมูลสำคัญที่ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอนต้องเรียนรู้  ฝึกฝน  และปฏิบัติจนเชี่ยวชาญเพื่อให้ "การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง"  คือ  ทางเลือกใหม่ของการจัดการศึกษา  ซึ่งจะนำพาสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
                               
                ที่มา
                วัฒนาพร  ระงับทุกข์. การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง.จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2541.                        
             
               

    
                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น